วัคซีน VS เซรุ่ม แตกต่างกันอย่างไร?

ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า “วัคซีน” และ “เซรุ่ม” กันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เช่นนี้ ที่จะได้ยินคำว่าวัคซีนกันจนหนาหู และบางคนอาจจะเคยคิดว่าวัคซีนก็คงเหมือนๆ กับเซรุ่ม หรือเซรุ่มก็คงเป็นอีกชนิดหนึ่งของวัคซีน แต่รู้กันหรือไม่ว่า? วัคซีนกับเซรุ่มนั้นมีความแตกต่างกัน! ซึ่งวันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังครับ

วัคซีน (Vaccine) คือ ชีววัตถุ หรือแอนติเจน ซึ่งนับเป็นตัวยาชนิดหนึ่ง โดยแอนติเจนนี้เราอาจเรียกได้อีกอย่างว่า เป็นสารก่อภูมิต้านทาน หรือสารก่อภูมิคุ้มกัน วัคซีนมักจะผลิตมาจากเชื้อโรคที่ตายแล้ว หรือทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่เป็นอันตรายกับตัวเรา และเรานำมารับประทาน หรือฉีดเข้าส่างกาย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วยตัวเอง โดยวัคซีนจะมีฤทธิ์ชักนำการสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะกับโรคนั้นๆ เช่น วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก ที่ผลิตขึ้นจากการนำเชื้อบาดทะยักมาทำให้ตาย แล้วจึงนำกลับมาฉีดเข้าสู่ร่างกายของเรา โดยหลักการทำงานง่ายๆ ของวัคซีน คือ ภายหลังจากที่เราฉีดวัคซีนซึ่งเป็นแอนติเจนเข้าไปในร่างกายแล้ว ร่างกายจะทำการหลั่งโปรตีนชนิดหนึ่งชื่ออินเทอร์เฟียรอน (Interferon) ซึ่งโปรตีนชนิดนี้ จะถูกหลั่งออกมาเมื่อร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อเซลล์ต่างๆโดยสารอินเตอร์เฟียรอนจะไปยับยั้งไม่ให้สิ่งแปลกปลอมดังกล่าว กระจายไปทำลายเซลล์ที่อยู่ข้างเคียง จากนั้นเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งมีบทบาทในการกำจัดสิ่งแปลกปลอม และสร้างระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย จะทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรค พร้อมทั้งจดจำลักษณะของแอนติเจนชนิดนั้นๆ เพื่อที่ว่าเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมชนิดเดิมเข้ามาในร่างกายอีก ระบบภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนจะสามารถเข้ากำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้นได้อย่างรวดเร็ว

ข้อดีของวัคซีน คือ เราจะไม่เกิดอาการแพ้ที่รุนแรงเมื่อทำการฉีด หรือรับประทาน ซึ่งอาการแพ้ส่วนใหญ่นั้น มักจะเกิดกับเด็ก แต่ไม่ค่อยพบเห็นในผู้ใหญ่ และร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันโรคจากการฉีดวัคซีนต่อไปอีกนาน ส่วนข้อเสียของวัคซีน คือ ร่างกายเราจะไม่สามารถนำไปใช้ได้ในทันที ต้องรอให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาก่อน จึงมักฉีดวัคซีนเพื่อเป็นการป้องกันโรคมากกว่ารักษาโรคที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ตัวอย่างของโรคที่ใช้วัคซีนป้องกัน เช่น ไข้หวัดใหญ่ โปลิโอ หัดเยอรมัน คางทูม และไวรัสตับอักเสบชนิดบี เป็นต้น

เซรุ่ม (Serum) คือ ส่วนของน้ำเลือดที่มีลักษณะเป็นของเหลวสีเหลืองใส หรือที่เราเรียกกันว่า พลาสม่า ที่สกัดได้จากเลือดของคน หรือสัตว์อื่นที่มีภูมิคุ้มกันโรคหรือสารก่อโรคนั้นๆ อยู่แล้ว ซึ่งโดยทั่วไปมักจะสกัดจากเลือดของม้า เนื่องจากในสมัยก่อน แพทย์ได้ทำการทดลองฉีดพิษงูอ่อนๆ เข้าไปในสัตว์ชนิดต่างๆ และพบว่า ม้าเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่ไม่ตาย จึงนำเอาเลือดม้ามาสกัดทำเซรุ่มต่อไป ซึ่งเซรุ่มที่ผลิตได้โดยการฉีดพิษ หรือเชื้อโรคที่อ่อนแอแล้ว หรือทอกซอยด์ (Toxoid) เข้าไปในม้า เพื่อให้ม้าสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อโรค หรือพิษชนิดนั้นๆ เมื่อม้าสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างเพียงพอขึ้นมาในเลือด เราจึงดูดส่วนของน้ำเลือด หรือพลาสม่าซึ่งมีกลุ่มของโปรตีนที่สามารถทำลายพิษ หรือเชื้อโรคได้ นำมาฉีดให้กับผู้ป่วยที่ได้รับพิษ หรือเชื้อโรคชนิดนั้นๆ เพื่อให้กลุ่มโปรตีนเหล่านี้สามารถกำจัดพิษ หรือเชื้อโรคได้ในทันที

ข้อดีของเซรุ่ม คือ ร่างกายสามารถนำไปใช้รักษาโรคได้ทันที ส่วนข้อเสีย คือ ผู้ที่ได้รับเซรุ่มอาจเกิดอาการแพ้ที่รุนแรง เนื่องจากเป็นผลผลิตจากสัตว์ และเป็นสารประเภทโปรตีนที่คนส่วนใหญ่ทั่วโลกมักเกิดอาการแพ้ โดยอาการปกติที่มักจะแสดงออกมา คือ เป็นไข้ มีผื่นคัน ปวดตามข้อ บวมบริเวณใบหน้า ในบางรายอาจเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่ามัว ต่อมน้ำเหลืองโต หรือหายใจลำบากร่วมด้วย ตัวอย่างของเซรุ่มที่นิยมนำมาใช้ในการรักษา เช่น เซรุ่มแก้พิษงู เซรุ่มป้องกันพิษสุนัขบ้า และเซรุ่มป้องกันโรคไอกรน เป็นต้น

จากที่กล่าวมาข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า วัคซีน และเซรุ่มนั้น มีวัตถุประสงค์ที่เหมือนๆ กัน คือ ใช้ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายทั้งคู่ โดยวัคซีนจะนำมาฉีด หรือรับประทาน ก็เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคขึ้นมาเอง ซึ่งภูมิคุ้มกันโรคที่ได้รับจากวัคซีนนั้นจะอยู่ได้นาน และไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ที่รุนแรง ในขณะที่เซรุ่มอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ที่รุนแรงได้ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการที่เซรุ่มส่วนใหญ่ผลิตมาจากสัตว์ และเป็นสารประเภทโปรตีน แต่ก็มีข้อดี คือ ร่างกายสามารถนำเซรุ่มที่ถูกฉีดเข้าไปใช้รักษาโรคได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น เราจึงสรุปได้แบบง่ายๆ ว่า “วัคซีนฉีดเพื่อป้องกัน ส่วนเซรุ่มฉีดเพื่อรักษา” นั่นเองรู้แบบนี้แล้วก็อย่าลืมไปรับวัคซีนโควิด-19 กันด้วยนะครับ เพราะการฉีดวัคซีนนั้นจะต้องเผื่อเวลาให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา เพื่อเป็นการป้องกันการติดโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตครับ

ข้อมูลอ้างอิง

  • บทความเรื่อง “วัคซีน VS เซรุ่ม เหมือนหรือต่าง?” bit.ly/3iQbJjh
  • บทความเรื่อง “วัคซีนกับเซรุ่มต่างกันยังไง” www.stkc.go.th
  • บทความเรื่อง “วัคซีนกับเซรุ่ม ต่างกันอย่างไร” www.health2click.com
TOPTHAIBRAND
TOPTHAIBRANDhttps://www.topthaibrand.com/
Full-time writer for lifestyle blogs, love nature, eating, travelling, sleeping and writing ! always make good decisions
RELATED ARTICLES

Leave a Reply

- โฆษณา -
MDX

Most Popular

Recent Comments

- โฆษณา -
MDX